บ้านศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
บริหารจัดการ 4 น้ำ(น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำกร่อย และน้ำเสีย)
ชุมชนบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่ดินทำนาและทำได้เพียงปีละครั้ง ชาวบ้านที่นี่จึงมีความยากจนมาก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทราบจึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ จำนวน 1,009 ไร่ ให้เกษตรกร เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลจัดสรรที่ดินแปลงละ 20 ไร่ ให้เกษตรกรเข้าทำกิน ในปี พ.ศ. 2520 พระราชทานแนวพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรแบบผสมผสานตามลักษณะภูมิสังคมสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น คือ ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ปลูกผลไม้ เช่น มะพร้าว มะม่วง กล้วย ขนุน เพื่อสร้างรายได้ระหว่างรอเก็บเกี่ยวข้าว แบ่งพื้นที่ทำแปลงบัวหรือนาบัว ซึ่งสร้างรายได้ให้มากที่สุด เพราะสามารถตัดดอกขายได้ทุกวัน รอบแปลงบัวยังปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก กะเพรา โหระพา ส่วนในแปลงบัวและท้องร่อง ใช้เลี้ยง ปลานิล และปลาตะเพียน ชุมชนบ้านศาลาดินจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก
แม้ว่าชุมชนจะลืมตาอ้าปากได้ในเรื่องที่ดินทำกิน แต่ก็มาประสบปัญหาในเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำเน่าเสีย ในปี พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมเต็มพื้นที่ตำบล แต่ยังสามารถระบายน้ำออกทางลำคลองด้านทิศใต้ได้ทัน ปี พ.ศ. 2538 มีการตัดถนนผ่านชุมชน ทำให้เส้นทางการสัญจรเปลี่ยนจากคลองมาเป็นถนนและยังมีระบบน้ำบาดาล ประโยชน์ของคลองจึงเหลือเพียงนำน้ำมาใช้ทำการเกษตร ครั้นเกิดภาวะน้ำท่วมหนัก น้ำไม่สามารถระบายไปยังคลองต่างๆ ได้ เพราะมีการทำประตูระบายน้ำกั้นคลองสายต่างๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำท้ายประตู ในคลองก็เต็มไปด้วยผักตบชวา ขยะ สารเคมีจากการทำการเกษตร และของเสีย น้ำเสียที่ปล่อยลงมาจากบ้านเรือน น้ำจึงเน่าเสียหนักขึ้นเรื่อยๆ ปี พ.ศ. 2540 องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์และชาวบ้านได้ร่วมกันเก็บวัชพืชในคลองเล็กๆ ด้วยการทำใบมีดติดกับหัวเรือเพื่อตัดผักตบชวา และให้กรมชลประทานเข้ามาช่วยเก็บในลำคลองสายใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดได้หมดเพราะวัชพืชเหล่านี้เจริญเติบโตเร็วมาก ชุมชนจึงร่วมกันวางเป้าหมายที่จะฟื้นฟูคลองมหาสวัสดิ์อย่างจริงจัง เพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรวิถีไทย โดยหาข้อมูลและสรุปปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไข โดยใช้ธรรมชาติแก้ไขธรรมชาติ ซึ่งมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สนับสนุนด้วยการนำเทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมมาประยุกต์ใช้ ในการวางแผนฟื้นฟูและปรับปรุงแหล่งน้ำ ชาวบ้านก็ติดตั้งถังดักไขมันในครัวเรือน ลดปริมาณไขมันของเสียที่ปล่อยลงน้ำ ช่วยกันเก็บผักตบชวามาตากแห้งผสมกับดิน ขายสร้างรายได้ และยังเป็นการกำจัดผักตบชวาในลำคลองได้ด้วย
ที่สำคัญคือ ชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริในการนำพลังงานธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการประดิษฐ์กังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยประยุกต์ระบบเครื่องกลเติมอากาศในน้ำจากกังหันน้ำชัยพัฒนาเข้ากับระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานไฟฟ้ามาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และจ่ายพลังงานไปยังมอเตอร์ขับเคลื่อน ให้กังหันหมุนน้ำขึ้นมาสัมผัสอากาศ โดยติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศนี้ในลำคลอง ช่วยบำบัดน้ำเสียและเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการดูสีของน้ำ ดูตะกอน ดมกลิ่น ไปจนถึงการสังเกตสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้น้ำเน่าเสียอีก
ส่วนปัญหาเรื่องน้ำท่วม เพื่อแก้ไขปัญหา ชุมชนได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ออกสำรวจพื้นที่ โดยนำแผนที่และผังน้ำมาใช้วิเคราะห์ปัญหา เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายให้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติด้วยการขุดลอกคูคลองที่มีอยู่เดิมและขุดคลองเพิ่มขึ้น วางท่อลอดถนนให้คลองเชื่อมต่อกันเป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร เพื่อให้น้ำไหลเวียนได้ในพื้นที่และใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำท่วม ด้วยการกำหนดจุดรวมพลเป็นศูนย์กลางการให้ความช่วยเหลือ การจัดทำทะเบียนรับของและแจกจ่ายสิ่งของบริจาค จัดทำชุดพร้อมอยู่ และชุดพร้อมอพยพ เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในช่วงน้ำท่วม หรืออพยพไปรวมกันที่จุดรวมพล ทั้งน้ำสะอาดสำหรับดื่ม อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ยาที่จำเป็น ทั้งยาลดไข้ ยาใส่แผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ ยาประจำตัวสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง เทียนไข ไม้ขีด ถุงขยะ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในช่วง 7 วัน นอกจากนั้นยังมีแนวคิดในการปลูกพืชผักลอยน้ำที่ดูแลง่ายและนำมาทำอาหารได้ เช่น กะเพรา ผักบุ้ง และผักสลัด
สภาพปัญหา
ชุมชนศาลาดิน ตั้งอยู่ที่ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในลุ่มน้ำท่าจีน ประชากร 8,926 คน อาศัย อยู่บนพื้นที่ 8,106 ไร่ (12.97 ตร.กม.) มีพื้นที่เกษตร ทั้งหมด 6,239 ไร่ (9.98 ตร.กม.) ประกอบด้วย นาข้าว 4,283 ไร่ (ร้อยละ 68.6) ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 1,426 ไร่ (ร้อยละ 22.8) และพืชผัก 530 ไร่ (ร้อยละ 8.5)
แต่เดิม เกษตรกรในชุมชนบ้านศาลาดินพึ่งพาการเกษตรจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว โดยประสบกับปัญหา 4 น้ำ ได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำกร่อย ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง เกิดจากการไม่ดูแลและไม่รักษาแหล่งน้ำ เป็นสาเหตุของความขัดสนในชุมชน ซึ่งคลองมหาสวัสดิ์ ระยะทางรวม 27 กิโลเมตรไหลผ่านชุมชนและคลองซอย อุดตันไปด้วยขยะจากครัวเรือน ชั้นไขมันก่อตัวบนผิวน้ำ เป็นผลมาจากการทิ้งน้ำเสียจากการประกอบอาหารลงในคลองโดยตรง ทำให้แสงแดดไม่สามารถทะลุ ผ่านชั้นไขมันได้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในลำคลอง ประกอบกับคลองเต็มไปด้วยผักตบชวา นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2538 มีการสร้างถนนผ่านชุมชน ทำให้การสัญจรเปลี่ยนจากคลองมาเป็นถนน ความสำคัญของคลองจึงลดลงเหลือเพียงทำหน้าที่ส่งน้ำ เพื่อใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร การดูแลรักษาคลองจึงน้อยลงตามไปด้วย ส่งผลให้คลองเสื่อมโทรม รวมถึงมีการสร้างประตูน้ำกั้นคลองหลายสายเพื่อควบคุมระดับน้ำท้ายประตู ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียเนื่องจากน้ำขาดการระบายและไหลเวียน
ปี พ.ศ. 2540 องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์และชุมชนร่วมกันเก็บผักตบชวาในลำคลอง และทำความสะอาดคลองอยู่หลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากวัชพืชเติบโตอย่างรวดเร็ว และขาดผู้นำชุมชนที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง เหตุการณ์มหาอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2554 ยิ่งทำให้สถานการณ์น้ำเลวร้ายลง ชุมชนศาลาดินจึงเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหา
แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา
หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมดำเนินงานโดยน้อมนำหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่องการพึ่งพาตนเอง สร้างความเป็นเจ้าของในการจัดการแหล่งน้ำในท้องถิ่น เกิดผู้นำชุมชน มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ของชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติก็ถึง เวลาเปลี่ยนแปลง
ชุมชนได้น้อมนำวิถีการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ บนที่ดินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวน 1,009 ไร่ ที่พระราชทานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและจัดรูปที่ดินให้กับเกษตรกรครอบครัวละ 20 ไร่ มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร เกิดความร่วมมือร่วมใจระหว่างเกษตรกรในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ
การเปลี่ยนแปลง
ชุมชนร่วมกันดำเนินงานขุดลอกคลอง ขุดคลอง และวางท่อลอดถนนเพื่อให้คลองเชื่อมต่อกัน รวมระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ช่วยให้การระบายน้ำดีขึ้น ลดการทิ้งขยะในลำคลอง ชุมชนได้ช่วยกันประกอบและติดตั้งถังดักไขมันในครัวเรือนแบบง่ายๆ และราคาถูก เพื่อช่วยแยกไขมันจากการประกอบอาหารไม่ให้ปนกับน้ำทิ้ง ช่วยลดผลกระทบของน้ำเสียในคลอง และมีการ ติดตั้งกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในคลอง เพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ชุมชนเริ่มมองคลองเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นและมีความเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการแหล่งน้ำให้เป็นที่กักเก็บน้ำ
เมื่อสภาพคลองดีขึ้น ปริมาณสัตว์น้ำก็เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ผักตบชวาถูกเก็บมาใช้ผสมทำเป็นดินพร้อมปลูก ผู้คนเริ่มกลับมาสัญจรทางน้ำ เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รายได้จากนาบัวให้ผลตอบแทนมากกว่าการทำนาข้าวในอดีต รวมถึงการปลูกพืชผักสวนครัวชนิดอื่นๆ เช่น ใบโหระพา กล้วย และเลี้ยงปลารอบสระบัว ชาวบ้านเรียนรู้การลอกคลองซอย และการทำพื้นที่เก็บกักน้ำ ในขณะที่หลายภาคของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและน้ำแล้ง ระหว่างปี พ.ศ.2558 – พ.ศ. 2559 แต่ชุมชนบ้านศาลาดินกลับมีน้ำเพียงพอสำหรับการทำเกษตรกรรม
ปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ พื้นที่ 1,009 ไร่ ให้เกษตรกรบ้านศาลาดิน และได้พระราชทานแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานให้แก่ชุมชน
ปี พ.ศ. 2543 น้ำท่วมใหญ่ และประสบปัญหาน้ำเสียในคูคลอง วัชพืชผักตบชวาและขยะจำนวนมาก จึงเริ่มดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ
ปี พ.ศ 2554 – 2555 จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรบ้านศาลาดิน ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินงานแม่ข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มทำผังน้ำ ฟื้นฟูคลองในพื้นที่โดยขุดลอกคลองซอยต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบหมุนเวียนน้ำในชุมชน สร้างต้นแบบเครื่องเติมออกซิเจนในน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาถังดักไขมันครัวเรือน และได้รับความร่วมมือจากกองทัพบกเข้ามาช่วยฟื้นฟูคลอง
ปี พ.ศ. 2556 ขุดลอกคลองริมทางรถไฟ คลองปฏิรูป 1 คลองปฏิรูป 2 และคลองโรงเจ และได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 2 ของประเทศ
ปี พ.ศ. 2557 ชุมชนได้ขุดลอกคลองเชื่อมต่อคลองหม่อมเจ้าเฉลิมศรี และทำท่อลอดถนน เพื่อให้น้ำไหลเวียน ซึ่งเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามธรรมชาติ โดยการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ชุมชนช่วยกันกำจัดสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและช่วยกันดูแลรักษาคลอง
ปี พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน จัดตั้งกองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคูคลอง เปิดรับซื้อผักตบชวาและแปรรูป ร่วมกันอนุรักษ์คลองเต่อเนื่อง ปลูกต้นไม้ท้องถิ่นตามแนวคลองทั้งตำบลมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชน เช่น ถนนสะเดา เป็นต้น และปี พ.ศ. 2560 ได้เปิดพื้นที่เป็นตลาดน้ำคลองมหาสวัสดิ์
ปัจจัยความสำเร็จ
สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้นำชุมชน
ความท้าทายของชุมชนบ้านศาลาดิน คือ ขาดการดูแลและรักษาแหล่งน้ำ เมื่อได้ส่งเสริมให้ชุมชนเข้าใจปัญหา มีผู้นำชุมชนที่สนับสนุน ชุมชนทำงานร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขด้วยตนเอง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
ชุมชนบ้านศาลาดินประสบกับปัญหาน้ำหลายด้าน เทคโนโลยีที่ใช้จึงต้องครอบคลุมและแก้ไขได้ทุกปัญหาด้วยต้นทุนเหมาะสม ชุมชนจึงได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และดัดแปลงประดิษฐ์เทคโนโลยีต้นทุนต่ำ เช่น วิธีการดักไขมันแบบง่ายๆ และการใช้กังหันน้ำเติมอากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ด้วยปัญหาที่หลากหลายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เกินกว่าความสามารถของชุมชน ดังนั้น การสนับสนุนจากสถาบันทางวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อชุมชนบ้านศาลาดิน เช่น สสนก. สนับสนุนด้านเทคนิค และมีความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และกองทัพบกสนับสนุนด้านการดำเนินงาน นำไปสู่ความสำเร็จของชุมชนบ้าน ศาลาดิน
ความสำเร็จ
บูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมการเกษตร และลดความเสี่ยงของภัยพิบัติจากน้ำ
ด้วยเจตนาที่แน่วแน่ของชุมชนบ้านศาลาดิน ได้ร่วมกันฟื้นฟูคลองภายในตำบลมหาสวัสดิ์ ชุมชนได้เรียนรู้วิธีเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยี เช่น แผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียม และเครื่องระบุพิกัด หรือ GPS สนับสนุนให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง และให้ความสำคัญกับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ผลที่ได้รับคือ การใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพ ได้รับการพัฒนาและใช้ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้งถังดักไขมันประจำครัวเรือนเพื่อกรองชั้นไขมันที่ไม่ต้องการออกจากน้ำ ใช้น้ำหมักชีวภาพ และก้อนจุลินทรีย์เพื่อบำบัดน้ำ ติดตั้งกังหันน้ำในคลองเพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และนำผักตบชวาตากแห้งมาใช้เป็นดินผสมพร้อมปลูก
เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำและความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมด้านน้ำ แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสเรื่องรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย ผักตบชวาที่เดิมเป็นเพียงแค่ขยะกลับเป็นรายได้เกิด เป็นกองทุนชุมชน
ถ่ายโอนการดำเนินงานจากชุมชนสู่หน่วยงานรัฐ
องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ร่วมกับชุมชนช่วยกันขุดลอกคลองและกำจัดผักตบชวา เพื่อให้การสัญจรในคลองดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ส่งผลให้ชุมชนสำรวจคลองซอย วิเคราะห์ร่วมกับแผนที่ผังน้ำ เพื่อเพิ่มการระบายน้ำทั้งระบบ มีการขุดลอกคลองซอย ช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของน้ำ และความสามารถในการระบายน้ำ รวมถึงความสามารถในการสัญจรทางน้ำ โดยขุดลอกคลองริมทางรถไฟ คลองปฏิรูป 1 คลองปฏิรูป 2 และคลองโรงเจ ขุดลอกคลองเชื่อมต่อคลองหม่อมเจ้าเฉลิมศรี และทำท่อลอดถนน เพื่อให้น้ำไหลเวียน ซึ่งเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามธรรมชาติ โดยการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ชุมชนช่วยกันกำจัดสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและช่วยกันดูแลรักษาคลอง ปี พ.ศ. 2558 ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ท้องถิ่นตามแนวคลองทั้งตำบลมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชนในอนาคต เช่น ถนนสะเดา เป็นต้น
การเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นมีแผนรับมือและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ จัดเตรียมอาหาร กำหนดจุดรวมพลเพื่อเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือให้แก่ผู้อพยพ โดยมีชุดพร้อมอยู่และชุดพร้อมอพยพ รวมถึงจัดทำทะเบียนแจกจ่ายของบริจาค เพื่อให้คนในชุมชนได้รับของบริจาคทั่วถึงทุกครัวเรือน และมีการปลูกผักลอยน้ำ โดยปลูกพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารในช่วงน้ำท่วม
ดำเนินงานทฤษฎีใหม่ในพื้นที่พระราชทาน
ปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ พื้นที่ 1,009 ไร่ ให้เกษตรกรบ้านศาลาดิน และได้พระราชทานแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานให้แก่ชุมชน โดยชาวบ้านศาลาดินยังคงใช้แนวทางการเกษตรแบบผสมผสานมาจนทุกวันนี้
เมื่อการบริหารจัดการน้ำได้รับการปรับปรุง ชุมชนได้เรียนรู้การจัดสรรที่ดินทำกิน ทำการเกษตรหลายประเภททั้งการทำนาบัว และปลูกพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ เช่น กะเพรา กล้วย และเลี้ยงปลาเพิ่มเติม จากที่เคยปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เป็นการเพิ่มรายได้ และแสดงถึงการปรับตัวของวิถีชีวิต
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเกษตรกรเรื่องการใช้น้ำและผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งนำไปสู่การขยายผลแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน
ตัวอย่างรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น แปลงเกษตรของนางสุรีย์ สวัสดิ์จุ้น มีรายได้จากข้าว 240,000 บาทต่อปี พืชผักสวนครัว 55,000 บาทต่อปี ปลาที่เลี้ยงในคูรอบๆ นาข้าว 23,000 บาทต่อปี รวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 ต่อปี