บ้านปากซวด อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎ์ธานี

จัดการป่ายั่งยืน ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

          นายวัชรินทร์ มุกดา ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านปากซวด เล่าว่า การบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านปากซวด เริ่มต้นมาจากผลกระทบของการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง เมื่อปี พ.ศ. 2523 – 2530 เมื่อป่าต้นน้ำถูกบุกรุกทำลาย ทำให้น้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรขาดแคลน ชาวบ้านต้องเลือกปลูกพืชที่ทนสภาพแล้งได้ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมากจึงรวมตัวกันหาทางแก้ไข ด้วยการสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำคลองบางครก ได้ลองผิดลองถูกเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง


          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2553 ชุมชนบ้านปากซวด ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ที่บ้านผาชัน จังหวัดอุบลราชธานี รู้สึกดีใจมากเพราะได้รับความรู้เรื่องการเก็บข้อมูลแหล่งน้ำ การเขียนแผนที่ผังน้ำ และวิเคราะห์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน เมื่อกลับมาถึงชุมชน ได้เริ่มทำตามขั้นตอนที่วิทยากรและอาจารย์ แนะนำมา พร้อมกับติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อทำงานร่วมกัน ปี พ.ศ.2554 ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์รอยบุญ รัศมีเทศ ให้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกับชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดี และเกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนขึ้นอย่างจริงจัง
          การดำเนินงานได้เริ่มต้นจากการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำ โดย สสนก. ให้ชุมชนรู้จักใช้ข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์  แผนที่ เครื่อง GPS มาช่วยในการแก้ปัญหา แนะนำเรื่องการก่อสร้างฝาย อาคารน้ำล้น แก้มลิง ระบบกรองน้ำดื่ม ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อชุมชนเริ่มมีน้ำ ป่าก็เกิดขึ้นมากมาย จนมีน้ำใช้เพียงพอและกำหนดกติกาและขอบเขตการใช้ประโยชน์ จากพื้นที่ป่า จัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างชัดเจน

สภาพปัญหา

          ชุมชนบ้านปากซวดตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาตอเต่า ต.พะแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี นานกว่า 200 ปี ปัจจุบัน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของเขื่อนรัชชประภา ชุมชนใช้น้ำจากคลองบางครกหล่อเลี้ยงชีวิต มีอาชีพทำการเกษตรและเก็บหาของป่าเป็นหลัก


          ในปี พ.ศ. 2523 เริ่มจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสกและก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา ทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง ชุมชนได้รับผลกระทบ และมีปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก เกิดการบุกรุกป่าเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน แหล่งน้ำธรรมชาติถูกทำลาย ในปี พ.ศ. 2537 ปัญหาเริ่มขยายความรุนแรง เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ชาวบ้านถูกแจ้งจับในข้อหาบุกรุกป่าเกือบทุกครัวเรือน และชุมชนไม่สามารถเข้าไปพัฒนาและจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำ

แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา

“หันหน้าเข้าหากัน สร้างความเข้าใจ อนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน”

   

          ปี พ.ศ. 2554 ชุมชนเริ่มแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำด้วยตนเอง และจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายบริหารจัดการน้ำบ้านปากซวด ต่อมาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาแนะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยชุมชนได้ร่วมกันจัดทำแผนที่ทรัพยากรธรรมชาติ วิเคราะห์สมดุล รวมทั้งร่วมกันกำหนด กฎ กติกา ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ เพิ่มระบบกักเก็บน้ำด้วยการสร้างฝาย ระบบกักเก็บน้ำนี้ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และดักตะกอนในลำน้ำ ช่วยกักเก็บน้ำหลากไว้ใช้ทำเกษตรในหน้าแล้ง ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ  “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยปลูกไม้ผล พืชผัก เสริมในสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพิ่มผลผลิตหมุนเวียน สร้างรายได้ให้ชุมชนตลอดปี

การเปลี่ยนแปลง

          ปี พ.ศ. 2554 ชุมชนจัดตั้ง “คณะกรรมการเครือข่ายบริหารจัดการน้ำบ้านปากซวด” ทำหน้าที่บริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง และพัฒนาแหล่งสำรองน้ำในพื้นที่ แต่การดำเนินงานยังคงเกิดข้อพิพาทกับอุทยานฯ ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสนก. จึงร่วมประสานสร้างความเข้าใจ ให้ชุมชนและอุทยานฯ หันหน้าเข้าหากัน และร่วมกันพัฒนาหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ต่อมาในปี พ.ศ. 2557  ชุมชนร่วมกับอุทยานฯ กำหนดขอบเขตป่าอนุรักษ์ของตำบลพะแสง และตำบลพังกาญจน์ และอุทยานฯ ได้ออกใบพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินให้แก่ชุมชน เพื่อกันเขตพื้นที่ป่ากับที่ทำกินอย่างชัดเจน ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและช่วยอุทยานดูแลป่า


          ชุมชนเริ่มปรับปรุงโครงสร้างน้ำในคลองบางครก เช่น ขุดลอกหน้าฝาย สร้างฝายกักเก็บน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ สามารถปลูกพืชเสริมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ไม่น้อยกว่า 30 ชนิด สร้างรายได้หมุนเวียนตลอดปี
          กว่า 200 ปี  ชุมชนตั้งถิ่นฐาน บริเวณเทือกเขาตอเต่า ต.พะแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี
อาศัยอยู่กับป่า แบบพึ่งพิง เป็นแหล่งอาหารของชุมชน
          ปี พ.ศ. 2500 เริ่มแผ้วถางป่า เปลี่ยนทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา
          ปี พ.ศ. 2523 จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสก (พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองหยีและคลองพระแสง) ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านปากซวดอยู่ในเขตอุทยานฯ
          ปี พ.ศ. 2525 ชุมชนกับอุทยานฯ เกิดข้อพิพาทเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า และเริ่มขัดแย้งรุนแรง
          ปี พ.ศ. 2550  เริ่มทำธนาคารต้นไม้ เพื่อลดหนี้จาก ธกส. และช่วยรัฐสร้างป่า ฟื้นฟูป่า
          ปี พ.ศ. 2552 รับรางวัลชมเชยประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จัดโดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก.
          ปี พ.ศ. 2554 – 2555 เริ่มดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ร่วมกับ สสนก. และเริ่มทำงานร่วมกับอุทยานฯ ร่วมกันพัฒนาแนวคิดอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
          ปี พ.ศ. 2556 – 2557 ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสานในพื้นที่สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ร่วมกำหนดขอบเขตป่าและพื้นที่ทำ ของ ต.พะแสง และต.พังกาญจน์ ร่วมกับ อุทยานฯ และกรมป่าไม้ เพื่อความชัดเจนในการจัดการป่าและน้ำ
          ปี พ.ศ. 2559 ได้รับคัดเลือกเป็นแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินงานร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และร่วมเป็นเครือข่ายการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 12 ของประเทศ เป็นตัวอย่างความสำเร็จด้านจัดการป่ายั่งยืน ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง


          ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน ร่วมเป็นเครือข่ายการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ปัจจัยความสำเร็จ

  • การฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

ชุมชนร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ ขอบเขตป่าอนุรักษ์ ป่าฟื้นฟู พื้นที่ต้นน้ำ และกำหนดขอบเขตที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน เกิดความชัดเจนให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน มีกฎกติการ่วมกันในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ

  • คนอยู่ร่วมกับป่า

ชุมชนสามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติม และร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยแนวทาง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของป่าต้นน้ำ รวมทั้งปลูกไม้ผล พืชผัก แทรกในสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน กลายเป็นป่ายางพารา ป่าปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเป็นอาหารและรายได้เสริมต่อเนื่องตลอดปี

ความสำเร็จ

  1. คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
  • ฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างมีส่วนร่วม

ปัจจุบันชุมชนบ้านปากซวดได้พื้นที่ป่าจากเอกชน 38 ไร่ นำมาฟื้นฟูและสร้างโรงเรือนเพาะกล้าไม้ นำไปปลูกเสริมในป่าชุมชน เลิกบุกรุกป่า และทำกินเฉพาะในพื้นที่ของตนเอง ร่วมกันดูแลและรักษาป่าจนเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เกิดการขยายแนวคิดและเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำในตำบลพังกาญจน์อีก 1,600 ไร่

  • แผนที่อนุรักษ์ คนอยู่ร่วมกับป่า

คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนฯ และ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสก ร่วมกันสำรวจพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ใช้เครื่อง GPS และแผนที่ สามารถกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ ขอบเขตป่าอนุรักษ์ ป่าฟื้นฟู พื้นที่ต้นน้ำ และกำหนดขอบเขตที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน โดยอุทยานออกใบพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินให้แก่ชุมชน จำนวน 66 แปลง (พื้นที่พิสูจน์สิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน  พ.ศ. 2541) เกิดความชัดเจนให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน มีกฎกติการ่วมกันในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ชุมชนสามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติม และร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยแนวทางป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

  • ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพิ่มอาหาร และรายได้

พัฒนาแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าในพื้นที่อุทยาน เปลี่ยนวิถีการเกษตรเป็น ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของป่าต้นน้ำ เริ่มต้นจากการปลูกไม้ผล พืชผัก แทรกในสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน กลายเป็นป่ายางพารา ป่าปาล์มน้ำมัน สามารถเพิ่มรายได้ 28,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเกิดกลุ่มตัวอย่างดำเนินงานปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จำนวน 18 ราย พื้นที่ 54 ไร่ และขยายผลแนวคิดด้วยตนเองอีก 13 ราย พื้นที่ 101 ไร่ ปัจจุบันบ้านปากซวด  มีรายได้จากผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30

  1. ระบบสำรองน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร
  • ระบบสำรองน้ำ คลองบางครก

                  

          เมื่อชุมชนบ้านปากซวด ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำ ทั้งจากการบุกรุกป่า และการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ โดยเฉพาะปัญหาน้ำแล้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ในปี พ.ศ. 2532 ชุมชนจึงได้เริ่มแนวคิดพัฒนาคลองบางครก ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่ไหลผ่าน คิดหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ ควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดยสร้างฝายกักเก็บน้ำและฝายชะลอน้ำ รวมทั้งสิ้น 19 ฝาย เพื่อสำรองน้ำในคลองบางครกและห้วยสาขา ช่วยชะลอความแรงของน้ำ ยกระดับน้ำและกระจายน้ำเข้าพื้นที่เกษตร มีปริมาณน้ำสำรองหน้าฝาย 169,750 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งขุดสระหนองกก พื้นที่ 9 ไร่ ทำหน้าที่เป็นแก้มลิง  ปริมาณน้ำ 103,680 ลูกบาศก์เมตร เพื่อกักเก็บสำรองน้ำและสามารถเติมน้ำเข้าสู่คลองบางครก ให้เพียงพอต่อการทำเกษตรในฤดูแล้งของทุกปี สามารถกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตร พื้นที่ 481 ไร่ ป่าต้นน้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น มีน้ำใช้ เพียงพอตลอดปี สำหรับ 141 ครัวเรือน 585 คน และจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2559 มีชุมชนข้างเคียงขอซื้อน้ำจากชุมชนปากซวดเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำขาดแคลนด้วย

  • น้ำสะอาดเพื่อการบริโภค

          ในอดีตชุมชนบ้านปากซวดขาดแคลนน้ำ เนื่องจากป่าไม้ถูกบุกรุกและขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ จึงส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนสำหรับบริโภค ซึ่งโรงผลิตน้ำดื่มที่มีอยู่เดิมมีสภาพชำรุด ทำให้ต้องจัดหาน้ำดื่มจากพื้นที่ใกล้เคียงมานานกว่า 20 ปี
          เมื่อชุมชนร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ มีน้ำต้นทุนที่เพียงพอ จากฝายกักเก็บสำรองน้ำไว้ใน คลองบางครกและสระเก็บน้ำหนองกกที่ใช้สำหรับผลิตน้ำดื่มและทำการเกษตร


          ในปี พ.ศ. 2554 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ได้ปรับปรุงระบบน้ำดื่มและซ่อมแซมโรงผลิตน้ำดื่มให้กลับมาใช้งานได้ เพื่อให้ชุมชนกว่า 112 ครัวเรือน มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภค ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มได้ประมาณ 25,000 บาท/เดือน

  1. กองทุนชุมชน ความสุขที่ยั่งยืน

          ชุมชนรวมกันจัดตั้งกองทุนในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการใช้ชีวิต ลดการพึ่งพาหน่วยงานท้องถิ่น บริหารงานโดยสมาชิกในหมู่บ้าน จนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน เกิดเป็นสวัสดิการสาธารณประโยชน์ของชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา อาชีพ รวมทั้ง เป็นกองทุนที่ช่วยเหลือชุมชนยามเกิดภัยธรรมชาติ และสนับสนุนการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนทั้งสิ้น 585 คน มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 2 ล้านบาท ปัจจุบันมีจำนวน 4 กองทุน ดังนี้

  • กองทุนปาล์มน้ำมัน

          เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2555 โดยจัดตั้งคณะกรรมการในหมู่บ้าน เป็นผู้แทนของชุมชนดูแลและบริหารจัดการผลประโยชน์ที่เกิดจากปาล์มน้ำมัน แบ่งพื้นที่ปลูกปาล์มออกเป็น 2 ส่วน คือ ริมถนน จำนวน 1,116 ต้น และแปลงสาธารณะของหมู่บ้านพื้นที่ 540 ไร่ สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน จำนวน 125,000 บาทต่อปี

  • กองทุนน้ำดื่มชุมชน

          เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2554 บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดต้นทุนจัดหาน้ำดื่มจากภายนอก และให้ชาวบ้านได้ดื่มน้ำสะอาด มีคุณภาพ ปัจจุบันมีรายได้เข้ากองทุนน้ำดื่ม 438,000 บาทต่อปี

  • กองทุนหมูหลุมและไก่

          เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2552 ควบคู่กับกองทุนปุ๋ย เพื่อลดภาระการจัดหาพันธุ์ลูกหมูและไก่ของเกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตน้อย เกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงหมูและไก่ สามารถลงทะเบียนรับลูกหมูและไก่เพื่อไปขยายพันธุ์ได้ฟรี อีกทั้งได้นำมูลสัตว์ไปเป็นส่วนผสมของปุ๋ย สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนจำนวน 20,000 บาทต่อปี

  • กองทุนปุ๋ย

          เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2552 เพื่อลดภาระการจัดหาปุ๋ยเคมีจากนอกพื้นที่ ซึ่งมีราคาแพง โดยใช้วัสดุในพื้นที่ เช่น แกลบ ขี้หมู ขี้ค้างคาว และกากปาล์มน้ำมัน สามารถลดรายจ่ายในการซื้อปุ๋ยได้ 3,480 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

คะแนนเต็ม 5 / 5. จำนวนผู้โหวต : 1

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้