ชุมชนบ้านโนนขวาง อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
สภาพปัญหาของชุมชน
ชุมชนบ้านโนนขวางตั้งอยู่บนที่ดอน พื้นที่ร่องน้ำแห้งขอด เส้นทางน้ำอยู่ห่างไกลออกไปกว่า 10 กิโลเมตร มีน้ำไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าว และทำการเกษตรอื่นๆ ประกอบกับสภาพดินเป็นดินเค็ม ดินดาน ดินเป็นกรด ปลูกพืชอะไรก็ไม่ขึ้น เมื่อขาดทั้งน้ำ และมีปัญหาดิน ทำให้คนในชุมชนต้องละทิ้งถิ่นฐานมารับจ้างแรงงาน แต่ยิ่งทำกลับยิ่งจน รายได้ไม่พอกินพอใช้
จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง
ผู้ใหญ่ทองคำ ยิ้มรัมย์ (อดีตผู้ใหญ่บ้านโนนขวาง) ผู้นำชุมชนบ้านโนนขวาง เห็นว่าการละทิ้งถิ่นฐานไปรับจ้างแรงงานนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนในชุมชน แต่กลับยิ่งทำให้จนมากขึ้น จึงตัดสินใจว่าต้องกลับถิ่นฐานบ้านเกิด เพราะถึงแร้นแค้นอย่างไรก็ไม่อดตาย ชาวบ้านยากจนแต่ไม่จนน้ำใจ เมื่อกลับสู่บ้านเกิดก็ได้เรียนรู้จากปัญหา ค้นหาสาเหตุที่บ้านโนนขวางทำการเกษตรไม่ได้ผล พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่งอกงาม ไม่ใช่เพียงเพราะดินไม่ดี แต่สิ่งที่สำคัญคือน้ำไม่มี ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่ทองคำจึงได้เริ่มต้นสร้างแหล่งน้ำด้วยตนเอง
การจัดการของชุมชน
เริ่มต้นสร้างแหล่งน้ำด้วยตนเอง
ปี พ.ศ. 2526 ผู้ใหญ่ทองคำ ยิ้มรัมย์ ได้ทดลองน้อมนำแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำและที่ดิน มาพัฒนาผืนดินอันแห้งแล้งให้พลิกฟื้นความสมบูรณ์ขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากการขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นา ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ลึก 3 เมตร ขุดด้วยสองมือของตัวเอง ใช้เวลาหลายปี กระทั่งจอบบิ่นทื่อด้วยดินแข็ง เหนื่อยเท่าไหร่ก็ต้องสู้ ว่างจากทำนาทำไร่จะมาขุดสระ ใช้หยาดเหงื่อแรงกายแรงใจเพื่อให้มีสระขึ้นมา เพราะผู้ใหญ่ทองคำรู้ซึ้งดีว่า “ไม่มีน้ำก็ไม่มีชีวิต”
เมื่อแรกพอขุดสระเสร็จ สระเก็บน้ำไม่ได้ น้ำไหลซึมลงดินหายหมด ผู้ใหญ่ทองคำต้องหาทางแก้ปัญหาดินอุ้มน้ำไม่ได้ โดยการสังเกตธรรมชาติ ให้ควายตีแปลง หรือลงไปนอนก้นสระ เกิดปลักโคลนสามารถอุดช่องว่างของพื้นดิน สระจึงสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้
แก้ปัญหาดินด้วยธรรมชาติ
จากนั้นแก้ปัญหาสภาพดินดาน ด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว กล้วย หญ้าแฝก พืชผัก และไม้ยืนต้นต่างๆ บนที่ดิน 15 ไร่ของตนเอง แปลงผืนดินแล้งให้เป็นสวนป่า ปลูกให้เต็มพื้นที่ แรกเริ่มชาวบ้านต่างคิดว่าผู้ใหญ่เป็นบ้าไปแล้ว ปลูกพืชบนดินแล้ง พืชพันธุ์มีแต่ล้มตาย แต่ด้วยความอุตสาหะ ผู้ใหญ่ไม่หยุดยอมต่อแรงต้านทาน ปลูกแล้วตายก็ปลูกซ้ำใหม่ เรียนรู้ธรรมชาติว่าต้นไม้ใดงอกงามอดทนได้ดีในสภาพภูมินิเวศของท้องถิ่น สู้ด้วยสองมือหยาบกร้านนับสิบปี กระทั่งต้นไม้สามารถหยั่งรากให้ความร่มรื่น ระบบนิเวศธรรมชาติได้ฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม เป็นการให้ธรรมชาติเยียวยารักษาธรรมชาติ
และภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างง่ายๆ ก็นำมาปรับใช้ คือ การเลี้ยงปูนา ที่ใครๆ บอกว่าห้ามเลี้ยงปูนาในนาข้าว เพราะปูจะกินต้นข้าวเสียหายหมด แต่ผู้ใหญ่ทองคำ เลี้ยงปูในนาข้าวเกือบสามพันตัว เพื่อช่วยป้องกันดินดาน ปูแต่ละตัวอาศัยอยู่ในรูที่ขุดลึกกว่า 60 เซนติเมตร รูปูกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เกิดความชุ่มชื้นในดิน ปูมักขุดรูในหน้าหนาว พอหน้าฝนน้ำฝนก็จะไหลลงรูปู พร้อมทั้งวัชพืชและมูลสัตว์ต่างๆ ที่ไหลลงไปด้วยทำให้เกิดเป็นอินทรีย์วัตถุ ช่วยทำให้ข้าวแตกกอได้ดีขึ้นอีกด้วย
ผู้ใหญ่ทองคำ สรุปวิธีเลี้ยงปูนาในนาข้าว ไว้ว่า “ข้าวที่เรากินเหลือ ก็เอาไปให้อาหารปู เมื่อปูอิ่ม ก็จะไม่ไปกัดกินต้นข้าวให้เกิดการเสียหาย”
อีกแนวคิดหนึ่งในการแก้ปัญหาดิน คือเลิกใช้สารเคมีในการเพาะปลูก หันมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ ปีแรกผลผลิตลดลง แต่เมื่อเริ่มปีที่สองเป็นต้นไป ผลผลิตดีขึ้นมาก สภาพดินอุดมสมบูรณ์ เพราะเกิดปุ๋ยธรรมชาติสะสมด้วยตัวเอง รวมทั้งได้ผักปลอดสารพิษไว้ทานเองหรือขาย ที่สามารถบริโภคได้อย่างสบายใจ
จัดการด้วยภูมิปัญญา
เมื่อมีน้ำเต็มสระกักเก็บได้ตลอดปี และปรับดินให้คืนสภาพอุดม ผู้ใหญ่ทองคำต้องวางแผนจัดการน้ำจากสระให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด มีภูมิปัญญาหลายอย่างที่นำมาปรับใช้อย่างได้ผล ลองผิดลองถูกตามประสาคิดแบบชาวบ้าน สั่งสมประสบการณ์กระทั่งเกิดเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา ด้วยการจัดการสระเก็บน้ำให้สามารถใช้งานได้ตลอดปี ปลูกแฝกและไม้ยืนต้นรอบสระ มีร่องระบายน้ำอยู่มุมด้านหนึ่ง ใช้เป็นช่องทางน้ำเข้าออกระหว่างสระเก็บน้ำกับนาข้าว
วิธีการคือ “ให้ปลาไปพักร้อน” ปลาก็เหมือนคน อยู่ที่เดิมนานๆ ก็เบื่อ ผู้ใหญ่ทองคำจึงจัดการสระน้ำให้มี 2 ระดับ โดยใช้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการเลี้ยงปลา ซึ่งปลาจะชอบอาศัยอยู่ในน้ำลึก และวางไข่ในน้ำตื้น เมื่อหน้าฝนน้ำล้นเต็มสระ จึงเปิดร่องระบายให้น้ำไหลเข้าที่นา เตรียมดินให้นุ่มอุ้มน้ำ ลงมือปลูกข้าวฤดูทำนา แล้วปล่อยปลามาเที่ยวระหว่างสระน้ำกับแปลงนา ด้วยธรรมชาติของปลาซึ่งวางไข่ในน้ำตื้นนิ่ง
นาข้าวจึงกลายเป็นที่ฟูมฟักไข่ และบ่ออนุบาลปลาไปในตัว ส่วนปลาใหญ่ในท้องนา ขังไว้ให้เราจับกินขายโดยง่าย เมื่อหนึ่งเวลาทำนาผ่านพ้น ปล่อยน้ำจากนากลับลงสระ ได้เกี่ยวข้าวรวงทอง แล้วยังได้พันธุ์ปลากลับไปเลี้ยงในสระใหญ่ และเมื่อเวลาหน้าแล้ง สระใหญ่ไว้เลี้ยงปลา และ พื้นสระบริเวณน้ำตื้นที่โผล่พ้นน้ำ ไว้ใช้ปลูกแปลงพืชผัก เพื่อเสริมรายได้ในฤดูแล้ง วิธีการนี้ ไม่ต้องเพิ่มการลงทุน เพียงเพิ่มวิธีบริหารจัดการน้ำลงไปเท่านั้น
เกษตรผสมผสาน
ด้านการเกษตรและใช้ประโยชน์ที่ดิน เริ่มต้นด้วยแปลงเพาะพันธุ์หญ้าแฝก ต้องคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ ปลูกเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และยังขายต้นกล้าแฝกให้กับสถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ ซึ่งนำไปใช้ในโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ของหน่วยงานราชการต่างๆ
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำปฏิทินการเกษตร เพื่อช่วยจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้ต่อเนื่อง และวางแผนการปลูกพืชตลอดทั้งปี เกิดเป็นรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน เกิดผลผลิตหลากหลายชนิด ไว้กินใช้ในครัวเรือน เพิ่มรายได้เสริมนอกฤดูทำนา การวางแผนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตรงกับช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ ทำให้ขายพืชผักได้ราคาดี
จากปัญหาดินและน้ำที่ผู้ใหญ่ทองคำได้ประสบ ทำให้ต้องคิดหาวิธีใช้ประโยชน์จากดินและน้ำให้มากที่สุด ซึ่งพืชที่ประหยัดน้ำ และไม่ต้องใช้ดิน ก็คือ เห็ด ผู้ใหญ่ทองคำได้ศึกษาจนเกิดความรู้ความเชี่ยวชาญในการเพาะและขยายเชื้อเห็ดได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาห้องทดลองที่ไหน ทำให้สามารถเพิ่มรายได้ตั้งแต่ขายหัวเชื้อ จนถึงตัวเห็ดอย่างครบวงจร ปัจจุบัน สามารถปลูกเห็ดต่างๆ อาทิ เห็ดฟาง เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ เห็ดนางฟ้า เป็นต้น (สำหรับเห็นขอน สามารถเพาะได้ทุกฤดู สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี)
จากการลองผิดลองถูก ทำให้เกิดความรู้ในการปลูกพืชแบบประหยัดน้ำอีกวิธี คือ การทาบกิ่งและตอนกิ่งไม้ผล โดยต่อไว้กับต้นที่ไม่ให้ลูกแล้ว แต่ระบบรากยังเดินดีอยู่ เสียบไว้ประมาณ 3-4 กิ่งต่อตอไม้ 1 ต้น เพื่อลดระยะเวลาเติบโตขยายรากลงดินของไม้ต้นเล็ก วิธีการนี้ทำให้ไม้ต้นเล็กอาศัยท่อน้ำเลี้ยงจากไม้ต้นใหญ่ จึงเติบโตและให้ผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 2 ปี
ขยายผลสู่ความยั่งยืน
ด้วยตระหนักดีว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต ผู้ใหญ่ทองคำจึงไม่เพียงแค่หาน้ำประจำไร่นาเท่านั้น แต่ยังเป็นแกนนำให้ภาครัฐ จัดทำบ่อน้ำขนาดใหญ่พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ สำหรับชุมชนขึ้นภายในหมู่บ้าน เพื่อเป็นน้ำสาธารณะให้ชาวบ้านไว้ใช้อีกด้วย
ภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากความวิริยะอุตสาหะ พัฒนาให้ผู้ใหญ่ทองคำกลายเป็นวิทยากร ที่คอยถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้กับชุมชนบ้านโนนขวาง และขยายออกไปยังเครือข่ายหมู่บ้านต่างๆ โดยรอบ ใช้บ้านของตนเปลี่ยนแปลงเป็นที่ทำการชาวนา ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์ถ่ายทอดความรู้การเพาะเห็ดแบบครบวงจร
และยังร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโนนขวาง จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มอีกแห่ง โดยพัฒนาพื้นที่สาธารณะของชุมชนบริเวณที่ติดกับบ่อน้ำ จำนวน 5 ไร่ จัดทำเป็นพื้นที่ทำเกษตรจริง และนำน้ำจากบ่อมาใช้ประโยชน์เพื่อทำการเกษตร ให้ชาวบ้านที่ยังไม่มีพื้นที่ทำกิน ได้มาเรียนรู้ในการทำการเกษตรและเกิดเป็นรายได้
ปัจจุบัน ผู้ใหญ่ทองคำ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ชุมชนอื่นกว่า 140 ครัวเรือน จาก 7 หมู่บ้าน ซึ่งได้นำความรู้ไปสู่การจัดการน้ำ โดยขุดสระรวม 190 สระ แล้วลงมือทำเพาะปลูกตามแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่ เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนได้กระจายออกไป พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งให้กลับชุ่มชื้นคืนชีวิต ด้วยบทเริ่มต้นที่แรงกายและความอดทน ของคนเล็กๆ ความฝันเล็กๆ ที่พิสูจน์ศรัทธาด้วยจอบเสียม และจัดการน้ำด้วยหัวใจลูกทุ่ง