ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น
บริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำหลาก บนพื้นที่สูงลอนคลื่น
ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต เป็นพื้นที่สูงลอนคลื่น ปัญหาที่สำคัญของพื้นที่คือฝนน้อย มีปรากฏการณ์แล้งซ้ำซาก คือ ฝนดี 2 ปี แล้ง 4 ปี หมุนเวียนอยู่แบบนี้มากว่า 40 ปี แต่ชุมชนเราไม่มีความรู้ที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา ชุมชนมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งการจัดการน้ำบนที่สูงลอนคลื่นเป็นการจัดการที่ยากกว่าพื้นที่ราบลุ่มต่ำ เพราะเรามองการบริหารจัดการน้ำแบบระบบสูบ ซึ่งที่ราบลุ่มน่าจะง่ายกว่า แต่เมื่อเราได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ทำให้ชุมชนได้รับความรู้ใหม่ว่าการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สูงเป็นเรื่องง่ายกว่า คือบริหารจัดการน้ำแบบแรงโน้มถ่วงสูงลงต่ำซึ่งเป็นการประหยัดพลังงาน ก่อนหน้านั้น เมื่อถึงฤดูฝน น้ำหลากไปทุกทิศทาง ขาดระบบจัดการ แต่ปัจจุบัน เรามีระบบคลองดักน้ำหลาก รวบและต้อนน้ำไปตามทิศทางที่เราต้องการโดยใช้ค่าระดับความสูงต่ำเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำหลากให้เข้าสู่ระบบที่ควบคุมทิศทางได้ ที่สำคัญเกิดความร่วมมือของคนในชุมชนตลอดเส้นทางน้ำ มีการปฏิบัติตามกฎกติการ่วมกัน ทำให้ปัจจุบัน ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต ผ่านพ้นปัญหาแล้งซ้ำซากได้ เพราะเรามีน้ำต้นทุนสำรองมากพอที่จะเก็บน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคในช่วง 2 ปี เพื่อข้ามแล้ง 4 ปีได้ และเมื่อมีน้ำเพียงพอแล้ว เกษตรกรยังเปลี่ยนระบบจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชแบบเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าถึง 20 เท่า
สภาพปัญหา
พื้นที่ชุมชนป่าภูถ้ำประสบปัญหาความแห้งแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี และเคยแล้งต่อเนื่องถึง 4 ปี แล้วมีฝนตกตามฤดูกาลต่อเนื่อง 2 ปี แล้วกลับมาแล้งต่อเนื่องอีก 4 ปี สลับกันเช่นนี้ พื้นที่ชุมชนมีลักษณะสูงต่ำเป็นลอนคลื่น การพัฒนาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ เริ่มจากขุดคลองที่ลอนคลื่นต่ำหรือลำห้วยที่มีอยู่เดิม น้ำจึงไหลไปรวมที่ต่ำหมด การนำน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูงเพื่อมาใช้ในการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรจึงมีต้นทุนสูง
แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา
การบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำโดยมีระบบการดัก รวบและต้อนน้ำไปสู่ทิศทางที่ต้องการ เติมเข้าสระในรูปแบบขั้นบันได หรือสระพวงที่ใช้แรงโน้มถ่วงเป็นสำคัญ เกิดการใช้น้ำซ้ำกว่า 5 ครั้ง เป็นการใช้น้ำที่มีต้นทุนต่ำหรือไม่ได้ใช้เลย จากนั้นเกษตรกรได้ปรับวิถีการผลิตพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการบริหารจัดการน้ำในระดับแปลง มีการจัดรูปที่ดินใหม่เพื่อให้เหมาะสมและง่ายต่อการจัดการน้ำในรูปแบบที่ใช้น้ำซ้ำในแปลง เป็นการประหยัดน้ำ ลดต้นทุน เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนด้วย
การเปลี่ยนแปลง
ภายหลังจากการได้ร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ในปี พ.ศ. 2553 ชุมชนได้นำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เริ่มจากการสำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำ นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสามารถบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงต่ำ และมีการใช้น้ำซ้ำหลายรอบโดยไม่มีต้นทุนในการนำน้ำมาใช้ และต่อมามูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนแนวทางดำเนินงานจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ร่วมวิเคราะห์วางแผนและปรับใช้แนวพระราชดำริให้เหมาะสมกับภูมิสังคมของพื้นที่
ปี พ.ศ. 2457 – 2473 เริ่มก่อตั้งชุมชนโดยปลัดจันทร์ ได้พาชาวบ้านจากอำเภอพล ประมาณ 100 ครัวเรือน อพยพมาอยู่ทางทิศใต้บริเวณป่าภูถ้ำ แล้วตั้งชื่อว่านิคมน้ำซับ หลังจากนั้น มีผู้คนอพยพมาจากจังวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานี และชัยภูมิ และหมู่บ้านก็เริ่มทยอยเกิดขึ้น
ปี พ.ศ. 2474 – 2480 นิคมน้ำซับเกิดโรคระบาด ทำให้ต้องอพยพชุมชนออกจากนิคมน้ำซับ และหาที่ตั้งชุมชนใหม่ที่เหมาะสม
ปี พ.ศ. 2504 – 2509 ชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางป่าภูถ้ำ ภูกระแต เพื่อปลูกปอขาย ทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว
ปี พ.ศ. 2512 ผลจากการที่รัฐบาลประกาศพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.มัญจาคีรี อ.ชนบท อ.แวงใหญ่ และ อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูระงำ เนื้อที่ทั้งหมด 158,050 ไร่ ทำให้ป่าภูถ้ำ ภูกระแตกลายเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูระงำตอนล่าง และส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่กลายเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนไปโดยปริยาย
ปี พ.ศ. 2515-2520 มีการปักเสาเขตป่าภูถ้ำ ชาวบ้านถูกขับไล่ และมีการจับกุมผู้กระทำผิดฐานบุกรุกแผ้วถางป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ประชาชนส่วนใหญ่ยอมออกจากพื้นที่ทำการเกษตร เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ ประกอบกับการทำเกษตรไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ปี พ.ศ. 2536 คณะรัฐมนตรีประกาศให้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูระงำ เป็นป่าสงวนเสื่อมโทรม มีการปลูกป่ายูคาลิปตัสเป็นสวนป่าเศรษฐกิจ ชาวบ้านรวมตัวจัดตั้งกลุ่ม “ชมรมผู้เลี้ยงสัตว์ภูกระแต” และร่วมกันปลูกป่าเพื่อใช้เป็นแนวเขตกันพื้นที่บริเวณป่าภูถ้ำ ภูกระแตไว้
ปี พ.ศ. 2538-2540 กรมป่าไม้ได้มอบป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูระงำ ให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไปจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร ทำให้ป่าภูระงำ ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 158,050 ไร่ ลดลงเหลือเพียง 52,943 ไร่
ปี พ.ศ. 2540-2541 เกิดการบุกรุกของชาวบ้านและนายทุนนอกพื้นที่อย่างรุนแรง มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกอ้อย ทำให้ป่าภูถ้ำ ภูกระแต และป่าอื่นๆ ที่อยู่บริเวณนั้นลดลงจาก 5,000 ไร่ เหลือเพียงประมาณ 2,800 ไร่ ในเวลา 5 ปี (นับจากปลายปี 2535-2540)
ปี พ.ศ. 2541-2546 ชมรมผู้เลี้ยงสัตว์ภูกระแตได้รวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อปกป้องป่าภูถ้ำ ภูกระแต ไม่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ นำไปจัดสรรให้เกษตรกร เพราะพื้นที่ป่าเหลือน้อยมาก ประกอบกับเป็นป่าผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบริเวณนี้
ปี พ.ศ. 2546 กลุ่มชมรมผู้เลี้ยงสัตว์ภูกระแต เปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูถ้ำ ภูกระแต ขยายหมู่บ้านจาก 15 หมู่บ้าน เป็น 27 หมู่บ้าน และประสานงานกับภาคีความร่วมมือในท้องถิ่นและในภูมิภาค เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการเรียนรู้และจัดการป่าที่เหมาะสม มีกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ปลูกป่า บวชป่า สร้างแนวกันไฟ และฝายชะลอความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าภูถ้ำ ภูกระแต
ปี พ.ศ. 2553 เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต ร่วมสำรวจ เก็บข้อมูล ติดตามผลการดำเนินงาน และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในด้านต่างๆ
ปี พ.ศ. 2554 ชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูแหล่งน้ำสาธารณะ พัฒนาคลองฟ้าประทานชลเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ มีระบบกระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำแล้งน้ำหลากบนพื้นที่สูงลอนคลี่น
ปี พ.ศ. 2560 ได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 16 ของประเทศ เป็นตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำหลาก บนพื้นที่สูงลอนคลื่น
ปี พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน ชุมชนเกิดความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร บริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง สามารถเป็นแกนนำขยายผลสู่ชุมชนข้างเคียง
ปัจจัยความสำเร็จ
การค้นหาโจทย์ร่วมของชุมชนและการเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อค้นหาคำตอบ ของชุมชนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด และมีหน่วยงานพี่เลี้ยงที่เข้ามาช่วยเติมเต็มความรู้ และช่วยสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์เพื่อให้ได้คำตอบที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการช่วยตรวจคำตอบว่าเป็นจริงหรือไม่ ควรแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนไหนบ้าง หน่วยงานที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงที่สำคัญ คือ สสนก. และ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ฯ ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ชุมชนนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ได้แก่ แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจพื้นที่ วางแผนงานจัดการพื้นที่ การจัดการข้อมูลแหล่งน้ำ เครื่องระบุพิกัด GPS สำรวจพื้นที่จัดเก็บข้อมูลตำแหน่ง ข้อมูลเส้นทางน้ำ พื้นที่ได้รับประโยชน์ โปรแกรม Microsoft Office บันทึกและจัดเก็บรวบรวมข้อมูล โปรแกรม Quantum GIS แสดงผลข้อมูลที่ได้จากการสำรวจบนแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมหรือแผนที่ทหาร วางแผนการดำเนินงานและพื้นที่ดำเนินโครงการตามข้อเท็จจริง กล้องถ่ายรูป บันทึกและจัดเก็บข้อมูลรูปภาพการดำเนินงาน ก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินงาน
ความสำเร็จ
ด้านที่ 1 ป่าวัฒนธรรมภูถ้ำ ภูกระแต
- ป่าภูถ้ำเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูระงำตอนล่าง จังหวัดขอนแก่น ได้รับการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2512 มีเนื้อที่รวม 158,050 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมัญจาคีรี อำเภอชนบท อำเภอแวงใหญ่ และอำเภอแวงน้อย
- ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูระงำ มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง หรือป่าโคก มีเนินเขาเตี้ยๆ ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ กลาง และเล็กขึ้นอยู่ปะปนกัน ในฤดูแล้งมักเกิดไฟป่าทุกปี ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม ติ้ว มะค่าแต้ แดง ประดู่ โจด ปรง เป็นต้น ป่าผืนนี้เป็นป่าต้นน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำชีทางด้านทิศตะวันตก คนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ใช้ป่านี้ในการเลี้ยงโค กระบือ เก็บหาของป่า เช่น เห็ด กระเจียว อีลอก ผักหวาน ผักติ้ว แย้ เป็นต้น และมีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด
- ปี พ.ศ. 2530 ชมรมผู้เลี้ยงสัตว์ภูกระแต ได้ปลูกป่าที่กินและใช้ประโยชน์ได้บนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เช่น มะม่วง นุ่น ประดู่ ติ้ว เป็นต้น โดยปลูกตามช่องว่างของต้นไม้และไม่ทำลายป่าเดิม มีสมาชิกรวม 5 คน
- ปี พ.ศ. 2541 เกิด กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูถ้ำ ภูกระแต มีสมาชิกหมู่บ้านหลักรอบป่า 11 หมู่บ้าน และหมู่บ้านสร้างความร่วมมือ 16 หมู่บ้านที่อยู่นอกเขตป่า จาก 5 ตำบล 2 อำเภอ ที่ใช้ประโยชน์ป่าร่วมกันปกป้องป่าที่มีอยู่ให้คงไว้ไม่ให้เกษตรกรบุกรุกแผ้วถาง และป้องกันเขตป่าไม่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมนำไปจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน
- ปี พ.ศ. 2541- 2546 เกิดคณะกรรมการกลุ่มจากตัวแทนชุมชนในพื้นที่ 15 หมู่บ้านรอบป่า พัฒนาไปสู่การสร้างกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่าเพื่อเฝ้าระวังป่า ทำแนวกันไฟ ปลูกป่ากันชน ทำฝายชะลอความชุ่มชื้น ปลูกป่าเสริม
- พิธีบวชป่าที่ผสานเข้ากับพิธีกรรมบุญเดือนหก ตามความเชื่อของเกษตรกรที่จะร่วมกันประกอบพีธีกรรมจัดเลี้ยงข้าวปลาอาหาร หวานคาว มาบวงสรวง และเสี่ยงทายก่อนการทำนา มีการจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย นอกจากนี้ การประสานงานเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีท้องถิ่นทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงการถ่ายทอดภารกิจจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้สามารถรักษาพื้นที่ป่าวัฒนธรรมภูถ้ำประมาณ 2,000 ไร่ ให้คงความสมบูรณ์เอาไว้ได้
ด้านที่ 2 บริหารจัดการน้ำแล้งน้ำหลากบนพื้นที่สูงลอนคลื่น
พื้นที่ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแตมีลักษณะสูงต่ำเป็นลอนคลื่น การพัฒนาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เริ่มจากขุดคลองที่ลอนคลื่นต่ำหรือลำห้วยที่มีอยู่เดิม น้ำจึงไหลไปรวมที่ต่ำหมด การนำน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง เพื่อมาใช้ในการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร จึงมีต้นทุนสูง
ปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่ชุมชนได้ร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุมชนจึงได้นำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น เครื่อง GPS แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม โปรแกรม QGIS ใช้สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำ นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงต่ำ และมีการใช้น้ำซ้ำหลายรอบโดยไม่มีต้นทุนในการนำน้ำมาใช้ เกิดเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำแล้งบนพื้นที่สูงลอนคลื่น อย่างมีประสิทธิภาพ
- ฟ้าประทานชล คลองดักน้ำหลาก แก้มลิงกักเก็บน้ำ เป็นคลองที่เกิดจากการขุดคลองดักน้ำที่ไหลหลากจากที่สูง คล้ายการทำรางน้ำดักน้ำบนหลังคาบ้าน แล้วลำเรียงตามแนวระดับสูงไปต่ำ เป็นสระขั้นบันได เพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันไว้ในสระที่เป็นแก้มลิง เก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง
- ภูมิปัญญาขาแค คือ การเชื่อมโยงน้ำส่วนเกินจากพื้นที่เก็บน้ำที่สูงลงไปที่ต่ำกว่า ซึ่งไม่ต้องใส่ท่อระบายน้ำ แต่ใช้การยกคันดินกั้นให้สูงพ้นน้ำไม่ให้ล้นคัน บังคับน้ำที่เกินให้ไหลออกด้านข้าง (ขาแค) เหลือแค่ระดับการเก็บกักที่ต้องการ
- แรงโน้มถ่วงกระจายน้ำ 3 ทิศทาง คือ จุดกระจายน้ำจากที่สูง ที่แบ่งน้ำลงที่ต่ำได้ 3 ทาง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงไล่ระดับน้ำจากที่สูงไปยังที่ต่ำ สามารถกระจายน้ำให้เข้าสระประจำไร่นาเกษตรกร และน้ำส่วนเกินจะไหลลงสู่ที่ต่ำเก็บเป็นชั้นๆ ตามระดับขั้นบันได เกิดการใช้น้ำซ้ำหลายรอบ และไม่ต้องใช้ระบบสูบน้ำ
- ต้อนน้ำหลาก รวบน้ำเกิน เติมน้ำอุปโภค เป็นการต้อนน้ำจากที่สูงเข้าสู่พื้นที่กักเก็บ หรือสระน้ำประจำไร่นาและแปลงเกษตร เมื่อมีน้ำส่วนเกินความต้องการ จะมีเส้นทางน้ำ คลองต้อนน้ำ ที่รวบน้ำ และทุ่งรับน้ำหลากที่รวบน้ำทั้งหมด มาเก็บไว้ที่แหล่งน้ำชุมชนเพื่อการอุปโภค บริโภค ในระดับครัวเรือนต่อไป
ด้านที่ 3 ทฤษฎีใหม่ จัดรูปที่ดิน มั่นคงความสุข
พื้นที่แปลงเกษตรชุมชนป่าภูถ้ำเป็นพื้นที่ต่ำสลับพื้นที่สูง และมีขนาดเล็ก การทำเกษตรเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่จึงไม่คุ้มกับการลงทุน และบริหารจัดการพื้นที่ได้ยาก แหล่งน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากเกษตรกรไม่ต้องการขุดสระ เพราะเกรงว่าจะเสียพื้นที่ในการปลูกข้าว
เมื่อเกษตรกรได้เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ จึงนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการจัดรูปที่ดินเพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น เช่น มีการสำรวจพื้นที่เพื่อวางผังแปลง ในพื้นที่ต่ำก็ขุดสระเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในรอบการผลิต โดยการขุดสระกองทุนและวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละช่วงเวลา ลดพื้นที่ปลูกข้าวให้พอกับการบริโภคในครัวเรือนในรอบปีเท่านั้น เป็นการใช้ที่ดินและน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพอเพียงสำหรับเลี้ยงครอบครัว
เดิมการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ เกษตรกรมีรายได้ 1,500 บาท (ยังไม่หักต้นทุน) หลังจากจัดรูปที่ดินและวางแผนการผลิตใหม่ เกษตรกรมีรายได้ 200,000 บาทต่อครัวเรือน เมื่อเทียบกับพื้นที่ 1 ไร่เท่ากันในรอบปีการผลิต ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เปลี่ยนวิถีการผลิตจำนวน 68 ราย มีรายได้จากผฃผฃิตรวมประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี
ด้านที่ 4 ฮักแพงแบ่งปัน สานสัมพันธ์ เครือข่ายลุ่มน้ำชี
ฮักแพงแบ่งปันสานสัมพันธ์เครือข่ายลุ่มน้ำชี เดิมเป็นเครือข่ายผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี เคยเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหา ปัจจุบันได้เรียนรู้จากเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ จึงเริ่มสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเข้าใจพื้นที่ มีการสำรวจข้อมูลน้ำ สถานะ วาดผังน้ำ โดยนำแผนที่มาช่วยในการวิเคราะห์ และสำรวจข้อมูลความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรของชุมชน ทำให้ทราบว่าชุมชนมีน้ำขาดหรือเกิน ท่วมหรือแล้ง สามารถวางแผนพัฒนาโครงสร้างน้ำได้ด้วยตนเอง และขยายแนวคิดในการพัฒนาด้านการจัดการน้ำ ดังนี้
- การบริหารจัดการน้ำแล้งบนพื้นที่สูงลอนคลื่น
- การพัฒนาฟื้นฟูระบบแก้มลิง
- การบริหารจัดการโดยใช้คลองดักน้ำหลาก
- ทฤษฎีใหม่
- แผนที่ ผังน้ำ ลุ่มน้ำชี
ปัจจุบันเกิดการขยายผลด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่ชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำชี 9 จังหวัด 60 ชุมชน 37 ตำบล 12 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ 200,000 ไร่ และสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีได้ประมาณ 200,000 ไร่ต่อปี